CMC ตุนแบ็คล็อกแน่นดันกำไรโตไม่ยั้ง ใจป้ำปันผล 0.07 บ. ลุ้นเทรดวันแรกวิ่งแตะ 4 บ.

.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (19 พ.ย.) บริษัท เจ้าพระยามหานคร จำกัด (มหาชน) หรือ CMC เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง โดยมีจำนวนหุ้นจดทะเบียนกับตลท. และจำนวนหุ้นชำระแล้ว 1,000 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท คิดเป็นทุนชำระแล้ว 1,000 ล้านบาท โดยบริษัทเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 250 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 3 บาท โดยมี บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศทไทย) ที่ปรึกษาทางการเงิน

โดย นายแพทย์วิเชียร นันแพทยาท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CMC เปิดเผยว่า บริษัทฯมีความยินดีที่จะรายงานผลประกอบการ 9 เดือน ปี 2561 เป็นที่น่าพอใจ โดยบริษัทฯมีรายได้รวม 1,510 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่ 1,058 ล้านบาท

รวมทั้งมีกำไรขั้นต้น 633 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึงเท่ากับ 42% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่ 439 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 186 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 165% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่ 70 ล้านบาท ยิ่งกว่านั้นอัตรากำไรสุทธิ (เน็ตมาร์จิ้น) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ คือ เพิ่มกว่าเท่าตัวเป็น 12.03% จาก 5.83%

ทั้งนี้บริษัทฯมีความเชื่อมั่นว่าผลประกอบการในปีนี้จะเติบโตตามเป้าหมาย และเพื่อเป็นของขวัญต้อนรับผู้ถือหุ้นใหม่ที่ ให้ความเชื่อมั่นลงทุนในหุ้นไอพีโอของ CMC คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลประกอบการในรอบ 9 เดือนแรกและกำไรสะสม เป็นเงินสด 0.07 บาทต่อหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นทุกราย โดยวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการรับเงินปันผล (Record Date) คือวันที่ 30 พ.ย. 2561 กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 29 พ.ย.2561 และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 12 ธ.ค.2561

ขณะเดียวกันมั่นใจว่าในปีหน้า คาดว่าจะมีผลประกอบการที่เติบโตจากการรับรู้ รายได้ของโครงการที่สร้างเสร็จพร้อมโอนและโครงการระหว่างก่อสร้างมูลค่ากว่า 5,538 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯกำลังออกโปรโมชั่นกระตุ้นการขายอย่างแรง และคาดว่ายอดขายปีนี้และปีหน้าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม CMC ไม่ได้ผลกระทบจากนโยบาย LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากบริษัทฯ มุ่งเน้นลูกค้าที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง ซึ่งนักลงทุนหรือเก็งกำไรเป็นส่วนน้อย และราคาขายส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 2-4 ล้านบาท ซึ่งลูกค้ามักจะซื้อเพื่อเป็นบ้านหลังแรก ตรงกันข้ามจากกระแสดังกล่าวคาดว่า อาจทำให้ลูกค้ารีบทำการโอนคอนโดมีเนียมเร็วขึ้นกว่าเดิม

โดยภาพรวม CMC มีมูลค่าโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ โครงการระหว่างก่อสร้าง และโครงการที่มีแผนจะเปิดขายและพัฒนาใหม่ รวมประมาณ 16,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 10 เท่าของรายได้ในปีที่ผ่านมา ซึ่งจะสร้างการเติบโตอย่างสูงและต่อเนื่องใน 3 ปีข้างหน้า

ด้าน นายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศทไทย) ที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายร่วม หุ้นสามัญเพิ่มทุนของ CMC เปิดเผยว่า เชื่อมั่นว่าหุ้น CMC จะสามารถเทรดเหนือราคาจองที่ 3 บาทได้ไม่ยาก เพราะเป็นหุ้นคุณค่า (Value Stock) ที่ทั้งคุ้มค่าและเติบโตสูง ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าจะมีการเติบโตอย่างมากตลอด 3 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ณ 30 กันยายน 2561 CMC มีโครงการที่สร้างเสร็จพร้อมโอนและโครงการระหว่างก่อสร้างสามารถรับรู้เป็นรายได้อีกกว่า 5,500 ล้านบาท ซึ่งหากโอนได้มาก รายได้และกำไรในปีหน้าจะเติบโตอย่างมาก และยังมีโครงการใหม่ที่มีศักยภาพและจุดเด่นรอเปิดตัวระหว่างปีหน้าอีก 10 โครงการ มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตในอีก 2 ปีถัดไป ราคาไอพีโอ 3 บาท คิดเป็นค่า P/E จากการคาดการณ์กำไรของนักวิเคราะห์ในปีหน้าเพียง 7 เท่า ในขณะที่ P/E ของตลาาด MAI สูงกว่านี้ค่อนข้างมาก และเป็นราคาที่ตั้งไว้ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีหลังปรับปรุงราคาตลาดล่าสุดของสินทรัพย์ที่ 4.68 บาทมาก คิดเป็นอัพไซด์กว่า 50%

นอกจากนี้ หุ้น CMC ยังมีมูลค่าที่ซุกซ่อนอยู่ (Hidden Value) ในรูปของที่ดินเปล่ารอการพัฒนาในทำเลที่มีศักยภาพซึ่งบริษัทเป็นเจ้าของแล้วอีก 7 แห่ง มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 1,300 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าต่อหุ้นประมาณ 1.30 บาท ยิ่งกว่านั้น ด้วยสถานะการเป็นบริษัทจดทะเบียน และหนี้สินที่ลดลงจากการชำระคืนเงินกู้บางส่วนจากเงินที่ระดมทุนได้ จะทำให้บริษัทลดต้นทุนทางการเงินไปได้มาก คาดปีหน้าแนวโน้มผลประกอบการน่าจะสดใสมาก

ทั้งนี้ CMC ประสบความสำเร็จในการระดมทุน ขายหุ้นไอพีโอได้เงิน 750 ล้านบาท โดย CMC จะนำเงินจำนวน 400 ล้านบาทไปคืนสถาบันการเงิน ซึ่งจะสามารถลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยในปีหน้าได้อย่างมีนัยยะ นอกจากนี้จะใช้เงิน 250 ล้านบาท ในการพัฒนาโครงการและซื้อที่ดินเพิ่ม และใช้เงิน 63 ล้านบาทเพื่อเพิ่มเงิน ทุนหมุนเวียน ซึ่งทางบริษัทฯคาดว่าภายหลังไอพีโอ อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน (IBD/E) จากปัจจุบันที่ประมาณ 1.6 เท่า จะลดลงเหลือเพียง 1 เท่า โดยหลังจากการเพิ่มทุนกลุ่ม แพทยานันท์ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมจะถือหุ้น 75% ( CMC ขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนซึ่งเป็นหุ้นใหม่ทั้งหมด 250 ล้านหุ้น หรือ 25% ของทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท ในราคาหุ้นละ 3 บาท ราคาพาร์ 1 บาท)

โดย CMC ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงการที่พักอาศัยมากว่า 24 ปี มีการดำเนินการที่ครบวงจรครอบคลุมถึงงานก่อสร้าง การผลิตวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ อาทิ แผ่นอาคารสำเร็จรูปภายนอก เฟรมกระจกและประตูอลูมิเนียม และผนังอาคารภายใน EPS การผลิตเฟอร์นิเจอร์บิลด์อิน และการจัดหาอุปกรณ์เพื่อใช้และสร้างมูลค่าเพิ่มในโครงการ ทำให้สามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นในระดับประมาณ 40% ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

ด้าน นักวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ ให้ราคาเป้าหมายของ CMC ที่ 4.30 บาทต่อหุ้น โดยวิธี PER คิดจากค่าเฉลี่ย PER ปี 2562 ของ Property Sector (ไม่รวม LH, QH, CPN และ SF) ที่อยู่ที่ 10.5 เท่า และ EPS ปี 2562 ที่ 0.41 บาท เป็น Forward PER อยู่ที่ 10.5 เท่าในปี 2562 และ 5.5 เท่าในปี 2564 ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย อุตสาหกรรมในปี 2563 และยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยหุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่มีการเน้นทำโครงการคอนโดมิเนียมและมีรายได้หลักจากการขายอาคารชุดในปี 2564

นอกจากนี้คาดว่า CMC ยังมีการเติบโตของกำไรสุทธิ 3 ปี (2561-2565) จะเติบโตอยู่ที่ 59% จากการเติบโตของรายได้จากการขายที่คาด 3 ปี Cagr (2561-2565) อยู่ที่ 40% จากโครงการที่คาดว่าจะสร้างเสร็จและโอนตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ซึ่งมีมากถึง 12 โครงการ รวมมูลค่าโครงการทั้งหมดกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท จากการที่บริษัทมี Backlogs หรือโครงการที่สร้างเสร็จแล้วรอโอนมูลค่ากว่า 4.1 พันล้านบาท คาดว่าจะรับรู้ในช่วงปี 2561-2562 รวมทั้งโครงการที่คาดว่าจะสร้างเสร็จและโอนในช่วงปี 2561-2562

ทั้งนี้คาดว่า CMC จะมีการรับรู้รายได้ในปี 2561 อยู่ที่ 2.1 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตของรายได้อยู่ที่ 37% เมื่อเทียบจากปีก่อน และยังมีการเติบโต 51% เมื่อเทียบจากปีก่อนในปี 2562 อยู่ที่ 3.2 พันล้านบาท และ 65% เมื่อเทียบจากปีก่อนในปี 2563 อยู่ที่ 5.2 พันล้านบาท และยังคาดอัตรากาไรขั้นต้นจะอยู่ที่ 40% ในปี 2561 และ 39% ในปี 2562

ส่วน นักวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ ให้ราคาเป้าหมายของ CMC ในปี 2562 ที่ 4 บาทต่อหุ้น บนสมมุติฐานของ PER ที่ 9 เท่า บนสมมุติฐานของ PER ที่ 9 เท่า จากการเปรียบเทียบกับกลุ่ม โดย CMC เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเชี่ยวชาญการพัฒนาโครงการประเภทคอนโดมิเนียมโดยมีประสบการณ์ยาวนานกว่า 24 ปี

สำหรับการขาย IPO ในครั้งนี้ CMC จะขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจานวน 250 ล้านหุ้นที่ราคาพาร์1 บาท/หุ้น ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท เข้าจดทะเบียนในตลาด mai โดยเงินทุนใหม่จากการขาย IPO จะถูกนำไปเป็นเงินทุนสำหรับการพัฒนาโครงการใหม่จ่ายคืนหนี้และเป็นทุนสำรอง และหลังจาก IPO แล้วผู้ถือหุ้นกลุ่ม แพทยานันท์ ยังคงเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ 75%

ทั้งนี้ คาดช่วง 3 ปี นี้เติบโตก้าวกระโดดและ CAGR 6 ปี คาด 59% ด้วย Backlog ในมือประมาณ 1,015 ล้านบาทและ Inventory พร้อมขายประมาณ 4,141 ล้านบาท โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 2 โครงการประมาณ 1,900 ล้านบาทและโครงการในอนาคต 10 โครงการประมาณ 10,338 ล้านบาท คาดจะเป็นปัจจัยหนุนรายได้ให้เติบโตโดดเด่นในปี 2561 ถึงปี 2563 ที่ 39%, 49% และ 65% ตามลำดับ การบริหารค่าใช้จ่ายต่างๆ ทำได้ดี และดอกเบี้ยที่ลดลงจากการจ่ายคืนเงินกู้ ทำให้คาดว่ากำไรสุทธิในช่วง 3 ปีนี้จะเติบโต 68% , 107% และ 72% ตามลาดับ โดยมอง CAGR ของกาไรสุทธิช่วง 6 ปีคือในปี 2558 – 2563 ที่ 59%

ดูข้อมูลทั้งหมดของ CMC GROUP ได้ที่ : www.cmc.co.th
หรือข้อมูลนักลงทุนสัมพันธ์ : www.cmc.co.th/ir หรือโทร 1172

Facebook
Twitter
Pinterest
Print

Related Posts